ทะเลสาบสีเขียวที่ด้านหลังเป็นภูเขาหิมะ

[India] เตรียมพร้อมก่อนไปเทรกกิ้งที่ Kashmir Great Lakes

June 3, 2022 8659 0 0

ใกล้ถึงฤดูกาลเทรกกิ้งที่ Kashmir Great Lakes อีกแล้ว สำหรับเส้นทางนี้จะเปิดให้เดินได้เฉพาะช่วงฤดูร้อน คือ เดือน 7-9 เท่านั้น วันนี้ขอมาแชร์เรื่องที่ควรรู้สำหรับมือใหม่หัดเทรกกันดีกว่า เผื่อใครดูรูปแล้วเห็นว่า สวย สวย สวย อยากไปบ้าง จะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวยังไง ส่วนมือเก๋าเดินบ่อยๆ เราไม่ห่วง

ผู้ชายเดินข้ามพาสที่ทะเลสาบแคชเมียร์
Kashmir Great Lakes

ก่อนอื่นขอบอกแบคกราวน์ก่อน ส่วนตัวไม่ใช่สายเทรกกิ้งนะ ในไทยเคยไปแค่เขาช้างเผือก ส่วนต่างประเทศเคยไปแค่ 2 ที่ คือ Everest Base Camp กับ Kashmir Great Lakes เท่านั้น ก็ยังนับว่า มือใหม่มากๆๆๆ

คนนอนอยู่บนก้อนหินที่ด้านหลังเป็นทะเลสาบ
Kashmir Great Lakes

เส้นทางนี้ใช้เวลาในการเดินน้อย ส่วนใหญ่อยู่ที่ 6 วัน แต่มันเป็น 6 วันที่ทรหดมากๆ เพราะต้องไต่ระดับความสูงขึ้นๆ ลงๆ จาก 2,600 → 3,500 → 3,900 → 3,600 → 4,000 → 3,300 → 2,800 → 2,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล บางช่วงต้องเดินขึ้นเขาสูงติดต่อกัน 4-5 ชม. และเดินลงรวดเดียว 3-4 ชม.

ฝูงแกะบนภูเขา
Kashmir Great Lakes
ม้าสีน้ำตาล 2 ตัวกำลังกินหญ้า
Kashmir Great Lakes

สิ่งที่น่าห่วงที่สุดสำหรับคนพื้นราบอย่างเราๆ คือ โรค AMS ุหรือ Acute Mountain Sickness หรืออาการแพ้ความสูง คือ ร่างกายปรับสภาพเข้ากับสภาพอากาศที่ความสูง 2,500 เมตรขึ้นไปไม่ได้ จะมีอาการปวดหัว มึนหัว หายใจเร็ว และนอนไม่หลับ เป็นต้น และทัวร์เส้นทางนี้ส่วนใหญไม่มีวันหยุดพักปรับสภาพร่างกายด้วย ปีนั้นที่เราไป มีบางกรุ๊ปต้องกลับตั้งแต่วันที่สองที่เดินเลย เพราะมีสมาชิกเจ็บป่วยจากอาการ AMS จนเดินต่อไปไหว

*อาการ AMS ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า ใครจะเป็นหรือไม่เป็น ต้องมาเจอหน้างานอย่างเดียวเลย บางคนไม่เคยเป็นมาก่อน ก็อาจจะเป็นได้ หรือบางคนเคยไปแล้ว แต่เดินเขาครั้งต่อไป อาจจะไม่เป็นก็ได้

Kashmir Great Lakes
Kashmir Great Lakes
ชายหนุ่ม 2 คนนั่งมองทะเลสาบ
Kashmir Great Lakes

ตลอด 5 วันที่นอนเต็นท์ ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ ดังนั้นใครสายถ่ายรูป ถ่าย Vlog เตรียมแบตเตอรี่สำรองไปให้พร้อม แต่ Power Bank จะถือขึ้นเครื่องได้ ความจุต้องไม่เกิน 20000mAh (ห้ามโหลดใต้ท้องเครื่อง) ถ้าความจุมากกว่า 20000mAh แต่ไม่เกิน 32000mAh ถือขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ชิ้น และต้องมีตัวหนังสือที่บอกความจุที่ชัดเจน

ลานกางเต็นท์ข้างทะเลสาบ
Kashmir Great Lakes
หญิงสาวนั่งอยู่ในเต็นท์สีส้ม
Kashmir Great Lakes
เต็นท์สีส้มข้างภูเขา
Kashmir Great Lakes

ห้องน้ำที่ใช้จะเป็นแบบส้วมหลุมนะ แต่มีเต็นท์สูงๆ ครอบไว้ มีเสียมเล็กๆ ไว้ให้ด้วย เวลาปลดทุกข์เสร็จแล้วก็ขุดเอาดินแถวๆ นั้นมากลบเอานี่ล่ะ ปกติเมื่อเข้าเสร็จแล้วจะเปิดผ้าเต็นท์ไว้ข้างนึง เพื่อให้รู้ว่าเต็นท์นี้ว่าง เพราะตอนที่เราเข้าต้องปิดประตูเต็นท์ทั้งสองข้าง แต่เราว่า เวลาเข้าห้องน้ำชวนเพื่อนไปด้วยกันอีกคนดีกว่า อย่างน้อยๆ ก็จะได้ผลัดกันเฝ้าด้านหน้า

เต็นท์สีเขียวสำหรับเข้าห้องน้ำเวลาเทรกกิ้ง
Kashmir Great Lakes

เส้นทางนี้มีชายแดนติดกับประเทศปากีสถาน และยังเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่ยังมีการสู้รบกันอยู่ ซึ่งอยู่ในการดูแลของทหารอินเดีย ดังนั้นจึงตัดสัญญาณโทรศัพท์ และวิทยุสื่อสารทั้งหมด ดังนั้นถ้าใครจะมาเดินเที่ยวที่นี่ ต้องร่างกายแข็งแรงและดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง เพราะถ้าหากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาแล้ว ไม่มีโรงพยาบาล คลีนิค และไม่มีเฮลิคอปเตอร์ส่งกลับ ต้องเดินกลับเส้นทางเดิม เพื่อนั่งรถกลับเข้าเมืองอีกที หรือต้องเดินต่อไปให้จบ เพื่อกลับอีกเส้นทางนึง

นักท่องเที่ยวเดินเลียบสันเขา ด้านข้างเป็นทะเลสาบ และภูเขาหิมะ
Kashmir Great Lakes
นักท่องเที่ยวเดินอยู่กลางสายหมอก
Kashmir Great Lakes
นักท่องเที่ยวกำลังเดินไต่ก้อนหินตามภูเขา
Kashmir Great Lakes

ช่วงที่เราไป ที่แคชเมียร์หิมะตกหนักสุดในรอบ 30 ปี ทำให้ช่วงเดือน 7 ที่เข้าสู่หน้าร้อนแล้ว มีหิมะที่ยังไม่ละลายอยู่เยอะมาก ความยากอย่างหนึ่งของการเทรกกิ้งเส้นทาง Kashmir Great Lakes ในปีนี้คือ ต้องเดินข้ามภูเขาน้ำแข็งลูกแล้วลูกเล่า และบางช่วงที่เดินไม่ได้ ก็ต้องนั่งแล้วสไลด์เดอร์ลงเขา และคนที่ไม่มีประสบการณ์การเทรกกิ้งบนทางน้ำแข็งอย่างเรา ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา ระบมไปทั้งตัว

เดินอยู่บนภูเขาน้ำแข็ง
Kashmir Great Lakes
ภูเขาน้ำแข็ง
Kashmir Great Lakes
ขบวนม้ากำลังเดินขึ้นบนภูเขาที่มีหิมะ
Kashmir Great Lakes

อาหารการกินไม่อุดมสมบูรณ์ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการเทรกกิ้งทุกที่ทั่วโลกอยู่แล้ว ฉะนั้นควรเตรียม energy gel หรือ protein bar ไปด้วย และเส้นทางนี้ไม่มีร้านค้า ไม่มีน้ำดื่มขายเหมือน EBC นะ น้ำที่กินก็ตักเอาจากลำธารที่ไปกางเต็นท์นอนนั่นล่ะ ซึ่งลูกหาบเค้าจะเอามาต้มให้ก่อน แต่ยังมีตะกอนหลงเหลืออยู่เยอะมาก กลับมาค่อยกินยาถ่ายพยาธิเอา

คนกำลังเดินข้ามสะพานไม้ที่มีน้ำไหลเชี่ยว
Kashmir Great Lakes
นักท่องเที่ยวกำลังเดินข้างลำน้ำ
Kashmir Great Lakes

ต้องยอมรับว่าตลอดเส้นทางนี้บรรยากาศสวยมากจริงๆ มีทั้งภูเขาหิมะ ทะเลสาบสีสวยๆ ดอกไม้ป่างามๆ อากาศที่บริสุทธิ์มากๆ ถ้าใครคิดว่าเตรียมตัวพร้อมแล้ว ก็ลุยเลยยยยยยยยย หรือถ้าใครอยากไปจริงๆ แต่คิดว่าเดินไม่ไหว เค้ามีม้าให้บริการนะ ต้องจองล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ

คนขี่ม้ากลางภูเขา
Kashmir Great Lakes
ขบวนม้าเดินบนสันเขา
Kashmir Great Lakes
ขบวนม้าแบกสัมภาระ
Kashmir Great Lakes

หลายคนมีคำถามว่า ร่างกายต้องฟิตประมาณไหนถึงจะไปเทรกกิ้งได้ หรือเราได้ออกกำลังกายก่อนที่จะไปเทรกกิ้งรึเปล่า อันนี้ก็ตอบยากเหมือนกันนะ ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางร่างกายของแต่ละคนด้วย ถ้าฟิตไปก่อนจะดีมากๆ เพราะได้ฝึกความอดทนและสร้างกล้ามเนื้อให้กับร่างกายด้วย

แต่เรา….ไม่ได้ออกกำลังกายเลยสักวัน ทั้งก่อนไป Everest Base Camp และ Kashmir Great Lakes 

นักท่องเที่ยวยืนอยู่กลางสายหมอก
Kashmir Great Lakes
นักท่องเที่ยวนั่งชมภูเขาสีเขียวๆ และทะเลหมอก
Kashmir Great Lakes

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ พยายามเลือกทัวร์ไทยหรือแลนด์อินเดียดีๆ นะ เพราะเมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว เหมือนเราต้องฝากชีวิตไว้กับเค้า แลนด์บางเจ้าดูแลดี อาหารการกินพร้อม ตามประกบไม่ให้คลาดสายตา แต่แลนด์บางเจ้าก็เจอกันแค่ต้นทางและปลายทาง ระหว่างวันคลำหาทางเดินกันเอง (แบบเรา)

ภูเขาหิมะที่มีทะเลสาบอยู่ข้างหน้า
Kashmir Great Lakes
ทะเลสาบแคชเมียร์เกรทเลก
Kashmir Great Lakes

แล้วพบกันใหม่กับการเดินทางสะสมไมล์ต่อไปของเรานะคะ

..หนึ่งพันไมล์..

2022.06.03

www.facebook.com/1000MilesJourney

Tags: Acute Mountain Sickness, AMS, Kashmir, Kashmir Great Lake, Kashmir Great Lakes, Kashmir Trekking, Kashmir trekking routes, power bank, Trekking, Trekking at India, Trekking at Kashmir, trekking in himalaya, กางเต็นท์นอน, ทะเลสาบ, ทะเลสาบแคชเมียร์, ทางเดินน้ำแข็ง, ทางเดินบนเขา, นอนป่า, นอนเขา, นอนเต็นท์, นอนเต็นท์ที่อินเดีย, ภูเขาน้ำแข็ง, ภูเขาหิมะ, ลูกหาบ, หิมาลายา, อาการแพ้ความสูง, อินเดียหน้าร้อน, เดินข้ามเขาที่อินเดีย, เดินข้ามเขาที่แคชเมียร์, เทรกกิ้งที่อินเดีย, เทรกกิ้งที่แคชเมียร์, เที่ยวอินเดีย, เส้นทางเทรกกิ้ง, เส้นทางเทรกกิ้งที่อินเดีย, แคชเมียร์, แคชเมียร์เกรทเลก, แคชเมียร์เกรทเลค, แบตเตอรี่สำรอง, ไปอินเดีย, ไปเที่ยวป่าที่อินเดีย Categories: Around The World, India
share TWEET PIN IT SHARE
Related Posts