Everest Base Camp Nepal

[Nepal] “Everest Base Camp” มีแต่เขา ไม่มีเรา (1)

June 10, 2019 22381 0 0

บันทึกการเดินทางของคนที่ซื้อทัวร์ไป “Everest Base Camp” คนเดียว (แต่ไปรวมกับคนอื่นนะ) ด้วยอารมณ์เบื่อๆ เซ็งๆ กับความเรียบง่ายและชีวิตที่สงบสุขเกินไป ตั้งเป้าไว้ว่า จะพยายามเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง แล้วเรียก ฮ. ส่งตัวกลับ เพราะกว่าจะถึงวันนั้น ร่างกายคงบอบช้ำไม่น้อย จะเป็นอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ อย่าลืมติดตามกันนะคะ

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

คิดยังไง ทำไมถึงไป “Everest Base Camp”

 

ทุกปีเราจะได้หยุดยาวๆ แค่ช่วงสงกรานต์และปีใหม่เท่านั้น จึงต้องวางแผนมองหาสิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิตสักหน่อย ประกอบกับตอนนั้นหน้าฟีดเฟซบุ๊กมีโฆษณาโปรแกรม “Everest Base Camp Trekking” ของ Nepal101 ขึ้นมาพอดี เลยลองสอบถามไปว่า

 

“ถ้าคนที่ไม่เคยเทรกกิ้ง ไม่ได้ออกกำลังกายเลย จะไป EBC ได้รึเปล่า”

 

ทางแอดมินตอบกลับมาว่า

“ถ้าเทรกกิ้งครั้งแรกไปได้ทุกที่ แต่ต้องออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ถ้าไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แนะนำเส้นทาง ABC (Annapurna Base Camp) หรือ Poon Hill จะดีกว่า”

 

“แต่ EBC นี่คือความฝัน” จำได้ว่าเราตอบเค้าไปแบบนี้ แต่ยังนึกไม่ออกหรอกว่าไปฝันเอาไว้ตั้งแต่ตอนไหน

 

คำว่า “Everest Base Camp” ติดอยู่ในใจเราตั้งแต่ปี 2012 ตอนนั้นที่ไปเที่ยวทิเบต และตามโปรแกรมคือต้องเข้าไปพักที่ Everest Base Camp ด้วย แต่ตอนนั้นทางประเทศจีนมีปัญหาอะไรบางอย่าง จึงประกาศปิดทางเข้า EBC จากฝั่งทิเบต ทำให้มันยังค้างคาใจตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

 

สำหรับคนที่ชอบเทรกกิ้ง ชอบเดินป่าเดินเขา หรือชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว Everest Base Camp น่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดหมายในฝัน แต่สำหรับเราที่ไม่ชอบ และไม่ทำอะไรเลยสักอย่างที่ว่ามา เพื่อนๆ จึงแปลกใจว่า “ทำไมถึงไป Everest Base Camp?”

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

เตรียมตัวนานมั้ย

การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เราจ้าาาาา

 

ก็ดันไปดูคลิปที่คนอื่นๆ เค้ารีวิวกัน บางคนเตรียมตัวกันเป็นเดือนๆ อย่างวรรณสิงห์ขาโหดด้านการเดินทาง ยังฟิตซ้อมก่อนไป Everest Base Camp ถึง 4 เดือน และบางคลิปก็มีคนไปไม่ถึง ต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับมาก่อนอีก

 

ส่วนเราตั้งใจว่าจะออกกำลังกายตั้งแต่วันที่จ่ายเงินมัดจำค่าทริปไป ก็ได้แต่ตั้งไว้ในใจอย่างนั้นล่ะ ผ่านวันเดือนคืนปีจนถึงวันที่ต้องเดินทางแล้ว ก็ยังไม่ได้ออกกำลังกายสักวันเดียว มีแค่ไปวิ่ง 10 กม. 1 วัน และไปวิ่งฮาร์ฟมาราธอน 1 วัน ที่ไปนี่ก็ไม่ใช่ขาวิ่งนะ ไม่เคยลงวิ่งรายการไหนมาก่อน ไม่ได้ซ้อมด้วย แต่เมื่อสมัครไว้แล้ว ก็เลยต้องไป สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี วิ่งท่ามกลางสายฝนและอุณหภูมิ 12 องศา ผ่าน cut off ไปอย่างฉิวเฉียด ดีที่จบแบบไม่เจ็บ

Everest Base Camp Nepal

EBC – Everest Base Camp Trekking นี้ เป็นโปรแกรมที่เดินง่ายที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุด เราเดินทางเมื่อวันที่ 5-19/4/19 จำนวน 15 วัน 14 คืน (รวมวันเดินทาง) แต่เทรกกิ้งจริงๆ แค่ 11 วันเท่านั้น โดยแบ่งเป็นขาไป 8 วัน (รวมวันพักหรือ acclimatization day 2 วัน) และขากลับ 3 วัน ระยะทางทั้งหมด 130 กม. แต่ต้องเผื่อเวลาไว้สักนิดนึง เพราะเครื่องบินที่ไปและกลับ Lukla มีความไม่แน่นอน ถ้าสภาพอากาศไม่ดีก็ไม่ขึ้นบิน  

Day 1 : Bangkok – Kathmandu

Day 2 : Kathmandu – Ramechhap – Lukla (2840m.) – Phakding (2620m.) = 3 hrs.

Day 3 : Phakding – Namche Bazar (3440m.) = 9 hrs.

Day 4 : Acclimatization Day – Everest View Point , Namche Monasterym , Sagarmatha National Park Museum = 6 hrs.

Day 5 : Namche Bazar (3440m.) – Tengboche (3740m.) = 8 hrs.

Day 6 : Tengboche – Dingboche (4440m.) = 7 hrs.

Day 7 : Acclimatization Day – Dingboche View Point (4440m.) = 4 hrs.

Day 8 : Dingboche (4440m.) – Lobuche (4930m.) = 7 hrs.

Day 9 : Lobuche – Gorak Shep (5170m.) – Everest Base Camp (5364m.) = 10 hrs.

Day 10 : Gorak Shep (5170m.) – Dingboche (4440m.) = 8 hrs.

Day 11 : Dingboche (4440m.) – Namche Bazar (3440m.) = 10 hrs.

Day 12 : Namche Bazar (3440m.) – Lukla (2840m.) = 8 hrs.

Day 13 : Lukla – Ramechhap – Kathmandu 

Day 14 : Kathmandu (Free day)

Day 15 : Kathmandu – Bangkok

มีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมจากเดิมนิดหน่อย คือ

1. ตามโปรแกรมเดิมคือเราต้องนั่งเครื่องบินเล็กจากเมืองกาฐมาณฑุ (Kathmandu) ไปลุคลา (Lukla) แต่ช่วง 4 ทุ่ม – 8 โมงเช้าเค้าปิดสนามบินเพื่อต่อเติม เราจึงเปลี่ยนไปขึ้นที่สนามบิน Ramechhap แทน โดยนั่งรถไปจากกาฐมาณฑุอีก 4-5 ชม. เท่ากับว่าต้องออกเดินทางกันตั้งแต่ตี 1 เลย

2. เพิ่มวัน Acclimatization day หรือวันหยุดพักเพื่อปรับสภาพร่างกาย จาก 1 วันเป็น 2 วัน เพราะไกด์เล็งเห็นแล้วว่า มีสมาชิกในกลุ่มมีอาการจากโรค AMS หรือ Acute Mountain Sickness หรืออาการแพ้ที่สูง ซึ่งจะมีอาการเมื่อขึ้นไปที่สูงมากกว่า 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อาการส่วนใหญ่คือ ปวดหัว นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ซึ่งถ้าไม่เพิ่มวันปรับสภาพร่างกาย อาจจะทำให้ไปไม่ถึง Everest Base Camp และอาจเกิดอันตรายกับสุขภาพได้

Everest Base Camp Trekking Map
Everest Base Camp Trekking Map

ในแต่ละวันพวกเราเดินกันแค่ไม่กี่กิโลเมตรหรอก แต่ต้องใช้เวลาเดินนานมาก เพราะด้วยระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นตามแนวดิ่ง บวกกับสภาพอากาศที่ออกซิเจนเบาบางลงเรื่อยๆ ทำให้เหนื่อยกว่าเดินบนพื้นราบมากมาย ทำกราฟให้ดูว่าแต่ละวันเราต้องเดินตามความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเท่าไหร่บ้าง

Everest Base Camp Altitude Chart
Everest Base Camp Trekking Altitude Chart

หลังจากนั่งกระแทกกระทั้นมาตลอดทางร้อยกว่ากิโล ในที่สุดพวกเราก็มาถึง Manthali Airport ที่เมือง Ramechhap ตอนรุ่งสาง จัดแจงเช็กอิน และชั่งน้ำหนักกระเป๋าก่อน ทางสายการบินกำหนดน้ำหนักกระเป๋าโหลดไว้ที่ 10 กก. และกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง 5 กก. แล้ว 10 กก. ที่โหลดนี่รวมถุงนอนด้วยนะ เท่ากับว่าเหลือพื้นที่ให้ใส่ของได้อีกแค่ไม่กี่กิโลเองสำหรับการเดินทางทั้งหมด 11 วันนี้ เราจึงต้องเอาของใช้ที่คิดว่าจำเป็นน้อยที่สุดฝากไว้กับโรงแรมในกาฐมาณฑุ

สรุปของข้าวที่เราจัดไป Everest Base Camp สำหรับ 11 วัน มีแค่เสื้อกันลมกันหนาวกันฝน 1 ตัว เสื้อขนเป็ด 1 ตัว เสื้อลองจอน 1 ตัว เสื้อยืดแบบแห้งเร็ว 2 ตัว เสื้อกันยูวีแขนยาว 1 ตัว กางเกงลองจอน 1 ตัว กางเกงเทรกกิ้ง 2 ตัว ถุงนอน -10 องศา แล้วก็มีพวกมาม่า วิตามิน และยาอีกนิดหน่อย ส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคือ ครีมกันแดด เพราะบนโน้นแม้จะหนาว แต่แดดแรงมากๆๆๆๆๆๆ และทิชชู่เปียก

Ramechhap Airport Nepal
Ramechhap Airport Nepal

มาถึงตั้งแต่ 6 โมงเช้า เห็นอากาศปลอดโปร่ง นึกว่าจะได้บินเลย ที่ไหนได้ เค้าบอกว่า ทางฝั่ง Lukla ฝนตกหนัก สภาพอากาศไม่ดีต้องรอไปก่อน และอีกแปบเดียว ทางฝั่ง Ramechhap ก็ฝนตกลงมาซู่ใหญ่เหมือนกัน สนามบินยิ่งเล็กๆ อยู่ พวกเราต้องขยับตัวมาหลบฝนกันด้านใน กว่าจะได้บินจริงๆ ก็ปาเข้าไปบ่ายๆ โน้นล่ะ

Ramechhap Airport Nepal
Ramechhap Airport Nepal

จะว่าไปแล้วก็ดีเหมือนกันที่พวกเรามาถึงสนามบินกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า เพราะพอขึ้นบินได้เมื่อไหร่ เค้าจะให้สิทธิ์คนที่มาถึงก่อนได้บินก่อน ได้ข่าวว่า คนที่มาทีหลัง วันแรกนอนอยู่ที่ Lukla ก่อนแล้ววันต่อมาต้องเดินรวดเดียวไปถึง Namche Bazar เลย ซึ่งถือว่าหนักเอาเรื่องเหมือนกัน

Ramechhap Airport Nepal

หันมาอีกด้านหนึ่งของสนามบินก่อนที่จะขึ้นบิน อากาศเย็นๆ กับหมอกจางๆ

Ramechhap Airport Nepal
Ramechhap Airport Nepal

เครื่องบินลำเล็ก

ขนาดไม่เกิน 20 ที่นั่ง หลายคนน่าจะได้ยินกิตติศัพท์ถึงความน่ากลัวของมันมาบ้างแล้ว แต่เราเคยขึ้นเครื่องบินเล็กแบบนี้ที่ปากีสถานมาก่อน ก็เลยรู้สึกเฉยๆ แต่ที่น่ากลัวยิ่งกลัวเครื่องบินลำเล็ก ก็คือสนามบิน Lukla (ลุกลา) หรือ Tenzing-Hillary Airport นี่ล่ะ เพราะเค้าได้ชื่อว่า เป็นสนามบินที่อันตรายติดอันดับโลกเลยทีเดียว

Ramechhap Airport Nepal

ขึ้นเครื่องไปได้สักพัก น้องแอร์ก็เอาลูกอมและสำลีมาแจก เครื่องบินใบพัดลำเล็ก เสียงเครื่องยนต์ดังมาก สำลีนี่ก็เอาไว้อุดหูแทน ear plug นั่นล่ะ

Ramechhap Airport Nepal

หลังจากฝนเพิ่งหยุดตกไปไม่นาน เรายังพอเห็นหมอกจางๆ กระจายอยู่ไปทั่ว จะเห็นว่าภูมิประเทศแถวนี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงๆ ทั้งนั้นเลย 

Ramechhap Airport Nepal
Ramechhap Airport Nepal

ระยะเวลากว่า 40 นาทีจาก Ramechhap มาที่ Lukla มีบางช่วงที่เครื่องบินลำน้อยสั่นสะเทือนไปตามแรงลม คนที่กลัวความสูงอาจจะรู้สึกหวาดเสียวหรือใจสั่นคลอนไปบ้าง แต่แปบเดียวเครื่องบินที่เรานั่งก็มาถึง Tenzing-Hillary Airport ที่ลุกลาอย่างปลอดภัยหายห่วง ตอนมาถึงนี่มีผู้โดยสารรอขึ้นเครื่องต่ออีกเยอะมาก เพราะเที่ยวบินล่าช้า ขึ้นบินไม่ได้ตั้งแต่ตอนเช้าถึงเที่ยง แบบนี้นี่ล่ะที่เราต้องเผื่อเวลาไว้บ้าง ไม่งั้นอาจมีตกเครื่องขากลับกรุงเทพก็ได้

Lukla Airport Nepal

Tenzing-Hillary Airport

สนามบินที่ได้ชื่อว่าอันตรายติดอันดับโลก ตั้งอยู่บนความสูงระดับ 2,845 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และรันเวย์ที่ยาวแค่ 527 เมตรเท่านั้น อีกทั้งพื้นที่โดยรอบยังแวดล้อมไปด้วยภูเขาสูงอีกด้วย ประกอบการสภาพอากาศที่แปรปรวน การนำเครื่องขึ้นลงยากลำบาก ถ้าลงช้าไปก็ชนหน้าผา ถ้าขึ้นช้าไปก็ตกเหว ต้องอาศัยความสามารถของนักบินที่มีประสบการณ์เท่านั้นจึงจะนำเครื่องลงจอดยังสนามบินนี้ได้ และต้องผ่านการฝึกพิเศษในการนำเครื่องขึ้นลงอย่างน้อย 100 ครั้ง และมีประวัติการบินในประเทศเนปาลอย่างน้อย 1 ปี

ส่วนชื่อ Tenzing-Hillary Airport นี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติกับ 2 นักปีนเขาชื่อดังที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1953 คือ Sherpa Tenzing Norgay และ Edmund Hillary

Lukla Airport Nepal
Lukla Airport Nepal

Tenzing-Hillary Airport (สนามบินลุกลา) อันตรายขนาดไหน

ระหว่างที่เรากำลังเดินเทรกกิ้งอยู่บนเขา ก็ได้ข่าวว่ามีเครื่องบินเล็กไถลหลุดรันเวย์ไปชนกับเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คนด้วยกัน และเครื่องบินเล็กที่ว่านั้นเป็นของ Summit Air ที่เราเพิ่งนั่งมาด้วย

Lukla Airport Nepal
Lukla Airport Nepal

มาเริ่มต้นเดินทางสู่ Everest Base Camp ในเส้นทางที่ง่ายที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุดตามโปรแกรมของเรากันเลย มาดูสิว่าคนที่ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ออกกำลังกายเลย จะเดินไปได้ถึงไหน และมีอาการอะไรบ้างมั้ย

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

Lukla เป็นหมู่บ้านที่เจริญ และครึกครื้นที่สุด มีร้านค้า ร้านอาหารเยอะแยะมากมาย ถ้าใครลืมเอาของใช้หรืออุปกรณ์การเดินเขาอะไรมา ก็ซื้อได้จากที่นี่ล่ะ หรือจะไปซื้ออีกทีก็ที่ Namche Bazar

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

จะเริ่มต้นเทรกกิ้งจริงๆ แล้ว โคตรตื่นเต้นเลย อาการนอยด์ๆ ตั้งแต่ก่อนมาเริ่มจางหายไป เพราะต้องมาเผชิญกับความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าแล้ว ใครจะไปเชื่อเนอะ จากคนที่แม้แต่ภูกระดึงยังไม่กล้าคิดที่จะไปเลย อยู่ๆ ก็มาโผล่อยู่ที่เส้นทางสู่ Everest Base Camp ซะงั้น

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

ซุ้มประตูที่หมู่บ้านลุกลา จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของการเทรกกิ้งในเส้นทาง Everest Base Camp ของเรา ตอนเริ่มต้นเดินนี่ไม่เท่าไหร่ล่ะ แต่ตอนขากลับที่พอเงยหน้าขึ้นมาแล้วเห็นซุ้มประตูนี่สิ อย่างกับได้ยกเทือกเขาหิมาลัยออกจากอกแน่ะ ถ้าใครอยากรู้ว่าเป็นยังไง อยากแนะนำว่าต้องมาลองด้วยตัวเอง ^^

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

เส้นทางในวันแรกยังเดินแบบง่ายๆ ส่วนใหญ่จะเป็นทางลงเขาซะมากกว่า เราเริ่มต้นเดินจากความสูง 2,850 ลงไปที่ 2,610 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถือว่าเป็นการวอร์มร่างกายเบาๆ ก่อนที่จะเจอของจริงในวันต่อๆ ไป

Lukla Everest Base Camp

ระฆังอธิษฐาน

ที่เราจะเห็นตลอดทางเดินจาก Lukla ไปที่ Everest Base Camp ที่เค้าเชื่อกันว่า ถ้าหมุนระฆัง 1 รอบ มีผลเท่ากับการสวดมนต์ด้วยปากเปล่า 1 จบ กงล้อนี้จะมีหลายขนาด ทั้งใหญ่มากกกกกกกก กลางๆ และขนาดเล็ก แต่ต้องใช้มือขวาในการหมุนเท่านั้นนะ

Lukla Everest Base Camp

เด็กน้อยแก้มแดง

เด็กๆ ที่นี่คุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี บางคนจะออกมาส่งยิ้มและทักทายนักเดินทางเป็นภาษาอังกฤษ บางคนขี้อายหน่อยก็จะหลบอยู่หลังพ่อแม่ และแอบมองพวกเราอยู่ใกล้ๆ

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

ซากุระเนปาล

ความอ่อนหวานของดอกไม้สีชมพูในช่วงต้นเดือนเมษายน ช่วยแต่งแต้มสีสันให้กับเส้นทางสู่ Everest Base Camp ที่นักเดินทางต้องความแข็งแรงของร่างกาย และความเข้มแข็งของจิตใจเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

ชีวิตขาลง

แม้วันแรกจะเดินลงเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่ชีวิตขาลงของพวกเราก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ด้วยทางเดินที่ไม่ได้ราบเรียบ และยังไม่คุ้นชินกับการใช้ไม้เท้า รวมถึงร่างกายที่ไม่ได้ออกกำลังและฝึกความอดทนมากก่อน ยีงดีว่าเป็นวันแรก แรงกายและแรงใจยังเต็มเปี่ยมอยู่ มุ่งหน้าเดินต่อไป

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

เจ้าถิ่นมาแล้ว

พอได้ยินเสียงกรุ้งกริ้งดังมาแต่ไกลนี่จะชอบมาก เพราะหมายความว่า เราจะได้หยุดพักเดินแล้ว และเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติที่เราต้องหลบเข้าทางฝั่งด้านใน ไม่งั้นอาจโดนเจ้าถิ่นเตะหรือกระแทกตกเขาหรือตกเหวได้ 

และที่ต้องยอมหลีกทางให้อีกคือ ลูกหาบ เพราะของที่อยู่บนหลังลูกหาบแต่ละคนนี่ไม่ใช่น้อยๆ เลยนะ จริงๆ เค้ามีการกำหนดไว้ว่า ลูกหาบ 1 คนจะหาบของได้ไม่เกิน 20 กก. แต่ก็อย่างว่านะ ถ้ายิ่งแบกของได้เยอะ ก็จะได้ค่าตอบแทนมากขึ้น ลูกหาบส่วนใหญ่จึงยอมใช้ร่างกายแลกกับเงินทองเพื่อให้ครอบครัวได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และนักท่องเที่ยวบางส่วนที่แบกสัมภาระขึ้นมาเอง

Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp
Lukla Everest Base Camp

ที่ซุกหัวนอน

ห้องพัก 1 ที่มีเพียงแค่เตียงนอนและที่นอนแข็งๆ อยู่ 2 เตียง คือ ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายที่เราจะได้พบเจอตลอดเวลาที่อยู่บนเส้นทางเอเวอเรสต์เบสแคมป์นี้ แต่ที่พักของเราดีหน่อยตรงที่มีผ้าห่มบางๆ ให้ด้วย ซึ่งมันก็เพียงพอที่จะให้ความอบอุ่นกับร่างกายหรอก ฉะนั้นถุงนอนเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆๆๆๆๆ และถ้าจะให้ดีควรรองรับอุณหภูมิได้ไม่ต่ำกว่า -10 องศาด้วย ของเรานักเดินทางมือใหม่และไม่รู้จะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่จะเทรกกิ้งหรือไม่ เราจึงเลือกที่จะเช่าถุงนอนจากบริษัทที่เราซื้อทัวร์มานั่นล่ะ

Pakding Everest Base Camp

ห้องน้ำ & ห้องอาบน้ำ

“ถ้าจิตใจเราสะอาดไม่จำเป็นต้องอาบน้ำก็ได้” เป็นคำพูดที่พวกเราคุยเล่นกันทุกคืนที่ถามว่าวันนี้จะอาบน้ำมั้ย เพราะการอาบน้ำบนภูเขาสูงๆ แบบนี้ต้องจ่ายเงินค่าน้ำอุ่นด้วย ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปตามสภาพความสูงที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดเวลา 11 วันนี้ เราอาบน้ำแค่ 3 ครั้งเท่านั้น!!! ไม่ใช่ที่พักไม่มีน้ำให้อาบนะ แต่ขี้เกียจ (สารภาพตามตรงเลย) ก็กว่าจะเดินถึงที่พักในแต่ละวันก็เย็นมากแล้ว และการอาบน้ำในสภาพอากาศหนาวเย็นแบบนี้ มันเสี่ยงต่อการไม่สบายมากเลยนะ (ข้ออ้างหรือเหตุผลนะ ^^)

Pakding Everest Base Camp
Pakding Everest Base Camp

ส่วนเรื่องห้องน้ำนั้น ยิ่งสูงน้ำยิ่งน้อย ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ควรปล่อยวาง ระหว่างทางเดินเราจะแวะเข้าห้องน้ำตาม Tea House หรือร้านค้าก็ได้ แต่พอเดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ร้านค้าก็ยิ่งห่างกันออกไป ฉะนั้นการปลดทุกข์กลางแจ้งและให้ก้อนหินก้อนโตๆ เป็นเกราะกำบังคือสิ่งที่พวกเราทำกันเป็นเรื่องปกติ ส่วนตัวก็ชอบการปลดทุกข์แบบนี้มากกว่าการเข้าห้องน้ำที่ไม่มีแม้แต่น้ำให้ราด แม้บางครั้งจะไปเจอซากอารยธรรมที่มีนักเดินทางก่อนหน้าได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้

Pakding Everest Base Camp

Phakding (2620m.) – Namche Bazar (3440m.)

วันที่ 2 ของการเดินทางอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย วันนี้เราต้องเดินสูงขึ้นจากเดิมถึง 820 เมตร ระยะทางขนาดนี้ ถ้าเป็นแนวราบ คงใช้เวลาเดินกันไม่ถึง 10 นาที แต่พอเป็นแนวดิ่งแบบนี้ เราต้องใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงเลยทีเดียวกว่าจะมาถึงหมู่บ้านนัมเช (Namche Bazar) หรือที่เค้าเรียกว่า เมืองหลวงของชาวเชอปา

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

สะพานข้ามเขา

ทางลัดที่ทำให้เราไม่ต้องเดินขึ้นๆ ลงๆ ข้ามภูเขาหลายลูก สะพานนี้ช่วยร่นระยะทางและเวลาได้เยอะเลย แต่ก็ถือว่าอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของนักเดินทางที่กลัวความสูง เพราะมันขึงอยู่ระหว่างภูเขา 2 ลูกที่สูงจากพื้นดินพอสมควร แถมตอนเดินๆ นี่มันก็แกว่งไปตามน้ำหนักและจำนวนคนที่อยู่บนสะพานด้วย ขนาดเราที่ไม่กลัวความสูง เดินๆ ไปแล้วยังมึนเลย และวันนี้เราต้องเดินข้ามกันถึง 5 สะพานด้วยกัน!!! 

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

เบื้องล่างของสะพานข้ามส่วนใหญ่จะเป็นธารน้ำที่ไหลแรงแบบนี้ ไม่ต้องเอามือลงไปจุ่มก็เชื่อได้ว่า น้ำนี้ต้องเย็นเจี๊ยบแน่ๆ เพราะขนาดกลางวันเวลาที่เราหยุดพักเดิน อากาศยังเย็นมากๆ เลย

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

วันแห่งการเดินทางที่โหดสุดๆ เริ่มต้นขึ้นแล้ว วันนี้เส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นทางขึ้น ไม่เหมือนเมื่อวานจาก Lukla มา Phakding ที่จะมีแต่ทางลง ลง และลง แต่วันนี้คือ ขึ้น ขึ้น และขึ้น ช่วงเช้าอากาศปลอดโปร่ง และยังมีเรี่ยวแรงที่ชาร์จแบตมาเต็มจากการพักผ่อนนอนหลับอย่างเต็มอิ่มจากเมื่อคืน

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ตามเส้นทางจะมีร้านค้าแบบนี้ล่ะ ราคาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ช่วงต้นๆ ของการเดินทาง ที่ระดับความสูงประมาณ 3-4 พันเมตรจากระดับน้ำทะเล ยังจะมีต้นสน และต้นไม้สูงๆ ให้ร่มเงาตลอดทาง

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

บางช่วงพวกเราก็แอบอู้ด้วยการหยุดแวะพักถ่ายรูปแบบนี้ล่ะ บางครั้งก็หยุดบ่อยจนไกด์ถึงกับส่ายหน้า

 

สิ่งสำคัญที่อยากบอกกับคนที่มีแพลนจะไปเอเวอเรสต์เบสแคมป์คือ อย่าลืมเก็บภาพความงามระหว่างเอาไว้เยอะๆ ไม่ว่าจะเก็บภาพด้วยการถ่ายรูป หรือเก็บไว้ในความทรงจำก็ตาม เพราะเราว่า ไฮไลท์ของการไปเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ระดับความสูง 5,364 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่เป็นความสวยงามระหว่างการเดินทางมากกว่า

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ซากุระที่กำลังบานสะพรั่ง มุมนี้ถึงขนาดต้องต่อคิวถ่ายรูปกันเลยทีเดียว

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

กุหลาบพันปี ดอกไม้ประจำชาติของเนปาล

หรือที่ชาวเนปาลนิยมเรียกว่า “Lali Gurans” เป็นดอกไม้ประจำชาติของเนปาลด้วย ตามเส้นทางเดินของเราก็จะเห็นเจ้าต้นกุหลาบพันปีนี้อยู่บ้าง บางช่วงเค้าก็จะบานเต็มภูเขา มองเห็นได้จากไกลๆ

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

เห็นไกด์บอกว่า ที่นี่เป็นหนึ่งในโรงแรมสุดหรูบนเส้นทางเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ค่าโรงแรมคืนนึงเป็นหมื่นเลย และมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์เป็นของตัวเองด้วย 

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

เข้าสู่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์

ด้วยความเชื่อที่ว่า Everest คือดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ “เบยุล” ของชาวเนปาล ข้างบนนี้จะไม่ฆ่าสัตว์ ละเว้นความโกรธ ไม่มีความอิจฉาริษายา ไม่ว่าร้ายผู้อื่น และไม่ดื่มกินของมึนเมา ทั้งหมดนี้เค้ามีป้ายเขียนขอความร่วมมือจากนักเดินทางเอาไว้ตรงทางเข้าด้วย

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

หินศักดิ์สิทธิ์

หินก้อนใหญ่ๆ ที่มีการตอกสลักบทสวดมนต์เอาไว้เป็นตัวอักษรทิเบต ดูยิ่งใหญ่และโดดเด่นมากๆ

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

เชอปาเปมมา (Shepa Pema)

ที่เห็นวิ่งอยู่ข้างหน้านี่ล่ะ เป็นไกด์ประจำทริปนี้ของพวกเรา แกเคยเดินไปกลับเอเวอเรสต์เบสแคมป์กับลุกลาภายใน 1 วันมาแล้ว โคตรโหดเลย

ทริปนี้เรามีไกด์ 1 คน และผู้ช่วยไกด์อีก 3 คน โดยเค้าแบ่งเป็นนำทางอยู่ข้างหน้า 2 คน อยู่ตรงกลาง 1 คน และตามประกบหลังอีก 1 คน ไกด์และผู้ช่วยนี่ทำหน้าที่แทบทุกอย่างเลย นอกจากคอยนำทางและดูแลพวกเราแล้ว เวลากินข้าวก็ต้องเป็นคนรับออเดอร์ เอามาเสิร์ฟ เก็บจาน และเก็บตังค์ด้วย 

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

รองเท้าเทรกกิ้ง และไม้เท้าเดินป่า (Trekking Pole)

อุปกรณ์สำคัญที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทริปเดินป่าแบบนี้ เราเลือกใช้รองเท้าเทรกกิ้งแบบหุ้มขอ เพราะเป็นคนที่เดินซุ่มซ่ามมาก ยิ่งเส้นทางเอเวอเรสต์เบสแคมป์นี่ส่วนใหญ่เป็นหินกรวดก้อนใหญ่ด้วย ถ้าไม่ระวังเท้าแพลงบนเขาไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ

ส่วนไม้เท้าเดินป่า เป็นอาวุธคู่กายที่สำคัญมากๆ เป็นตัวช่วยพยุงและบาลานซ์น้ำหนักของเราทั้งเวลาเดินขึ้นและลงเขา แต่บางคนก็คิดว่ามันเกะกะน่ารำคาญ แต่ถ้าขึ้นที่สูงๆ หรือลงทางชัน ไม่มีไม่ได้

อีกอย่างหนึ่งที่เราใช้ช่วงวันหลังๆ คือ สนับพยุงเข่า ช่วยลดแรงกระแทกเวลาเดินลงได้ดีเลย

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ทางเดินที่ต้องไต่บันไดขึ้นไปเป็นระยะๆ แม้จะเหนื่อยขนาดไหน ก็ปลอบใจตัวเองว่า “ลำบากวันนี้เพื่อสบายในวันหน้า” เพราะถ้าวันนี้ต้องเดินขึ้นแล้ว เดี๋ยววันกลับเราก็จะได้เดินลงไง พอคิดได้แบบนี้ ค่อยมีแรงใจเดินขึ้นมาอีกหน่อยนึง

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

เส้นทางชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบฉันใด เส้นทางสู่เอเวอเรสต์เบสแคมป์ของเราก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบซากุระฉันนั้น 

ก็ดูทางเดินของพวกเราสิ จากที่ฝนตกหนักไปเมื่อวันก่อนและเมื่อวาน ทำให้เราต้องเดินดมกลิ่นขรี้ม้า ลา ล่อ และจามรีไปเป็นระยะ บางช่วงเดินเหนื่อยๆ กำลังจะเงยหน้าขึ้นสูดหายใจเข้าให้เต็มๆ ปอด แต่ดันได้กลิ่นพวกนี้เข้าไป ถึงกับสะอึกเลย

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

Hillary Bridge

เป็นชื่อสะพานที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Sir Edmund Hillary ผู้ชายคนที่ไปถึงยอดเขา Everest คนแรก พร้อมกัน Tenzing Norgay Sherpa สะพานข้ามเขาที่เชื่อมระหว่างช่องเขาอิมจา ดรังกา (Imja Dranga) กับนังโป ดรังโป (Nangpo Drangpo) และเป็นสะพานข้ามเขาเส้นสุดท้ายก่อนเข้าสู่ Namche Bazar มีความสูงจากพื้นประมาณ 135 เมตร และความยาว 150 เมตร หลังจากเดินข้ามสะพานนี้แล้ว เป็นบททดสอบสมรรถภาพของร่างกายช่วงบ่ายได้ดีเลย เพราะต่อจากนี้จะเป็นทางขึ้น ขึ้น และขึ้น สำหรับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเรา ถือว่าหนักหนาสาหัสจริงๆ

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

และเป็นประจำของช่วงบ่าย ที่มักจะมีฝนตก หรือหมอกหนาลงมาทักทายพวกเรากันตลอด บางทีตอนเช้ายังฟ้าใส แดดแรงอยู่เลย แต่ตอนบ่ายเดินๆ ไป ดันมีเมฆหมองมาบังทางซะงั้น

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

อย่างวันนี้พวกเราต้องใส่เสื้อกันฝนเดินกันเลย แรกๆ อาจจะรู้สึกไม่คล่องตัว แต่ข้อดีของการใส่เสื้อกันฝนคือ มันช่วยกันลม และเพิ่มความอบอุ่นร่างกายให้ด้วย แต่ถ้าจะให้ดี ควรใส่เสื้อกันฝนแบบ Poncho ที่คลุมได้ตัวเและกระเป๋าเป้แบคแพคด้านหลังด้วย แต่เดินไปนานๆ มันจะร้อนหน่อย เราซื้อที่ Namche Bazar ตัวละประมาณ 400 – 500 บาท

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ไกด์ก็กวักมือให้เดินตามไปเร็วๆ เพราะถ้ายิ่งมืดกว่านี้ จะเดินลำบาก แต่เราก็เดินไปไม่ถึงซะที เพราะมันโค-ตะ-ระเหนื่อยเลย

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

เห็นบันไดเมื่อไหร่ก็นึกท้อ แต่เดินมาขนาดนี้ จะท้อจะถอยก็ไม่ได้ ได้แต่ฮึดสู้ หายใจลึกๆ แล้วก้มหน้าก้มตาเดินต่อไป

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ช่วงไหนที่มีบ้านคนเยอะๆ ก็ดีใจ นึกว่าใกล้ถึง Namche Bazar จุดหมายปลายทางของวันนี้แล้วซะอีก ที่ไหนได้ ไกด์ไม่มีทีท่าจะหยุดพัก หรือส่งสัญญาณให้ดีใจ เราก็ต้องค่อยๆ ไต่บันไดเดินขึ้นเขาต่อไปอีก (ถ้าสังเกตเห็นด้านหลังบ้านพักนั่นล่ะ คือบันไดที่เราต้องตะกายขึ้นไป)

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ถึงแล้ว Namche Bazar

จาก Hillary Bridge เราใช้เวลาเดินถึง 3 ชั่วโมงเลยกว่าจะมาถึงที่ Namche Bazar ตรงนี้ แต่จุดนี้ก็ยังไม่ใช่ที่พักของพวกเรานะ ต้องเดินขึ้นเขาไปอีกเกือบครึ่งชั่วโมง ทีแรกก็แอบบ่นไกด์ในใจว่า่ ทำไมจองที่พักไกลจังวะ แต่พอถึงวันพรุ่งนี้และวันถัดไป รู้เลยว่า อยู่บนเขามันดีอย่างนี้นี่เองงงงง ^^

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

วันนี้พวกเราจะนอนที่ Namche Bazar 2 คืน เพราะต้องมีการหยุดพักเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวด้วย แต่วันพักนี่ไม่ใช่จะนอนเล่นเฉยๆ นะ ยังต้องเดินขึ้นเขาไปที่สูงๆ แล้วเดินกลับมานอนที่ต่ำ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว เอาไว้จะพยายามมาเล่าต่อนะคะ 🙂

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

ระหว่างนี้ แวะชิมอาหารอร่อยๆ ตามเส้นทางเอเวอเรสต์เบสแคมป์ที่ลิงก์นี้ก่อนค่ะ

[Nepal] 50 กว่าจานบนเส้นทางสู่ “Everest Base Camp”

Everest Base Camp Nepal
Everest Base Camp Nepal

แล้วพบกันใหม่กับการเดินทางสะสมไมล์ต่อไปของเรานะคะ

..หนึ่งพันไมล์..

2019.06.10

www.facebook.com/1000MilesJourney

Tags: acclimatization day, Acute Mountain Sickness, AMS, EBC, Edmund Hillary, everest, Everest Base Camp, Hillary Bridge, Kathmandu, Lali Gurans, Lukla, Manthali Airport, Namche Bazar, nepal, nepal trek, nepal trekking, Nepal101, Phakding, Ramechhap, Sherpa Tenzing Norgay, Tenzing-Hillary Airport, Trekking Pole, trekking shoe, trekking shoes, trekking to EBC, trekking to Everest Base Camp, yak, กาฐมาณฑุ, กุหลาบพันปี, จามรี, ซากุระ, ซากุระเนปาล, ธงมนตรา, ธงมนต์, รองเท้าเทรกกิ้ง, รองเท้าเทรคกิ้ง, ลุกลา, ลุคลา, สนามบินลุกคลา, สนามบินลุกลา, สนามบินอันตราย, สนามบินอันตรายที่่สุดในโลก, สะพานข้ามเขา, สะพานขึง, สะพานแขวน, สะพานแขวนเนปาล, เครืองบินเนปาล, เครื่องบินเล็ก, เครื่องบินไปเอเวอเรสต์, เดินป่าเนปาล, เดินเขา, เดินเขาเนปาล, เทรกกิ้งเนปาล, เทรคกิ้งเนปาล, เที่ยวภูเขา, เที่ยวเชา, เนปาล, เมืองหลวงของชาวเชอปา, เอเวอร์เรสต์, เอเวอร์เรสต์เบสแคมป์, เอเวอเรสต์, เอเวอเรสต์เบสแคมป์, ไม้เท้า, ไม้เท้าเดินป่า Categories: Around The World, Nepal
share TWEET PIN IT SHARE
Related Posts